ประโยชน์ของการออม

ออมก่อน รวยก่อน / ประโยชน์ของการออม

การออมให้คุณประโยชน์แก่เราอย่างไรบ้าง?
    การออมให้ประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตและการพัฒนาชีวิตของเรา ไม่ว่าจะเป็นการ ออมเงินและออมทรัพยากรอื่น รวมทั้งการออมชีวิต  หากจะแยกให้เห็นเป็นเรื่อง ๆ ก็แยกได้ดังนี้ 

    1) ด้านเศรษฐกิจ เศรษฐกิจ แปลว่า กิจที่ประเสริฐ คือ เป็นกิจที่ช่วยให้ชีวิตดำรงอยู่และเปิดโอกาสให้คนได้พัฒนาชีวิตคนให้เจริญ ให้สูงขึ้นได้ การประกอบอาชีพ เช่น การปลูกพืชผัก เพื่อบริโภค เพื่อแจกจ่ายแก่เพื่อนบ้าน หรือเพื่อจำหน่ายให้ได้เงินมา เพื่อนำไปแลกกับปัจจัยด้านอื่น เช่น ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ เป็นต้น เรียกกันว่า เป็นเรื่องกิจกรรมด้านเศรษฐกิจ คือ เรื่องการผลิต การแจกจ่าย และการบริโภค เงินเป็นตัวกลางของการแลกเปลี่ยน หรือซื้อขายปัจจัยทั้งหลาย จึงมีความสำคัญต่อการดำรงชีพสูงมาก โดยเฉพาะปัจจุบัน การจะมีเงินได้ก็เป็นเรื่องยาก ดังนั้น เมื่อได้มาก็ต้องรู้จักประหยัดรู้จักออม เพื่อแลกเปลี่ยนสิ่งของปัจจัยในการดำรงชีพต่อไป

     2) ด้านสังคม ในกระบวนการออม ถ้ารวมกลุ่มการออมตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน หมู่บ้าน ตำบล ถึงจังหวัด ที่ปฏิบัติกันอยู่ขณะนี้ เห็นได้ชัดว่า มีผลดีด้านสังคม คือ เป็นกิจกรรมส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน ให้คนคิดถึงกัน เอื้ออาทรต่อกัน หรือรักกันมากขึ้น อย่างกรณีการออมสัจจะลดรายจ่ายวันละ 1 บาท เป็นเครื่องมือให้คนที่เป็นสมาชิกคิด เอื้ออาทรต่อเพื่อนสมาชิก ต่อผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการช่วยตัวเองไม่ได้ และได้มีส่วนช่วยเพื่อนตั้งแต่วันลืมตามาดูโลกจนถึงวันตาย ถ้าได้ปฏิบัติกันอย่างจริงจังก็จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับครอบครัว และชุมชนได้ทางหนึ่ง

    3) ด้านวัฒนธรรม กิจกรรมที่คนส่วนใหญ่ถือปฏิบัติกันอย่างแพร่หลาย มีสาระทั้งที่เป็นความรู้ ความคิด การปฏิบัติที่มีแบบแผนแน่นอน และทำอย่างต่อเนื่อง และให้ผลเป็นความดีแก่ผู้ปฏิบัติ เราจัดว่าเป็นวัฒนธรรม พฤติกรรมการออม กิจกรรมการออม ผลการออมมีลักษณะเช่นว่านี้ จึงจัดว่าเป็นวัฒนธรรมสำคัญของชุมชนได้อย่างหนึ่ง ถ้าได้ปฏิบัติกันอย่างจริงจังตลอดไป เพราะเนื้อในของการออม นั้นมีองค์ประกอบของความเป็นวัฒนธรรมครบถ้วน คือ มีทั้งองค์ความรู้ วิธีปฏิบัติ และผลการปฏิบัติที่ชัดเจน ให้ประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติดีได้ทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านกาย ด้านสังคม ด้านใจ และด้านจิตวิญญาณ

    4) ด้านการศึกษา ภาพรวมทางกระบวนการการออมเป็นเรื่องของการเรียนรู้ การฝึกตนเอง ผู้ทำการออม หรือเป็นสมาชิกกลุ่มเพื่อออมเพราะต้องรู้หลักคิด หลักการและหลักปฏิบัติ ตลอดถึงผลลัพธ์ที่พึงได้พึงมี การที่ทุกคนเดินเข้าสู่กระบวนการนี้ได้ชื่อว่า เดินเข้าสู่กระบวนการทางการศึกษา เพื่อพัฒนาตนเอง ดังได้กล่าวแล้วในตอนต้น ผู้เข้าร่วมกิจกรรมนี้ อย่างตั้งใจจะเรียนรู้ก็จะได้รับประโยชน์ส่วนนี้อย่างครบถ้วน โดยไม่รู้ตัว และจะพบว่าตนเองเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ทั้งด้านการรู้ การคิด การพูด และการทำ

    5) ด้านทรัพยากรธรรมชาติแวดล้อม ดิน น้ำ ป่า เขา สัตว์ พืชที่เราได้เห็น อยู่รอบ ๆ ตัวเรา บ้านเรา ชุมชนเรา คือ ชีวิตเรา เพราะว่า เราต้องอาศัยดิน น้ำ ป่า เขา พืช สัตว์เหล่านั้น จึงมีชีวิตอยู่ได้ ดินหด น้ำแห้ง ฝนแล้ง ป่าถูกเผา ภูเขาพัง สัตว์ล้มตายด้วยโรคบางชนิด ภาวะเช่นนี้ คือ สัญญาณเตือนภัยอันใหญ่หลวง ได้เกิดขึ้นแก่มนุษย์แล้ว เพราะเราเป็น อยู่ได้ พัฒนาได้ ก็โดยอาศัยสิ่งเหล่านี้ การพูดถึงการออมทรัพย์สินหรือทรัพยากรธรรมชาติ จึงเป็นเรื่องใหญ่ยิ่งเท่ากับออมชีวิต เงินทองจะมีความหมายก็เมื่อมีสิ่งนี้ เมื่อไม่มีสิ่งนี้ เงินทองก็หมดความหมาย กลายเป็นเศษกระดาษ เศษโลหะที่กินไม่ได้ ช่วยชีวิตมนุษย์ไม่ได้เลย การใช้เงินเพื่อจัดการทรัพยากรให้คงอยู่ในภาวะปกติ จึงเป็นเรื่องต้องคิดต้องทำ

    6) ด้านการพัฒนาชีวิต การออมเป็นเรื่องการรู้ การคิด และ การทำ การออมที่เริ่มด้วยการเรียนรู้เรื่องสัจจะ คือ ความจริงที่รู้ ที่คิด ที่พูด ที่ทำ ของตนเอง ว่าจะต้องพูดจริง ทำจริง คิดจริง และรู้จริงนั้น นับเป็นการเรียนรู้เพื่อรู้จักตนเอง รู้จักความสัมพันธ์ระหว่างคนกับผู้คนในครอบครัว ในชุมชน เป็นต้น โดยเฉพาะคนในครอบครัว มีภรรยา หรือสามี และลูก ๆ รวมปู่ยาตายาย ถ้าคนในครอบครัวรู้จักสัจจะ คือ ความซื่อสัตย์ ซื่อตรง จริงใจ จริงวาจา จริงการทำต่อกัน รู้จักข่มใจในบางโอกาสบางกรณี รู้จักอดทนอดกลั้น รู้จักสละสิ่งของให้แก่กัน และรู้จักสลัดอารมณ์มัวหมอง เป็นตน ก็มีคุณต่อชีวิตของคนในครอบครัว อย่างมากมายแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าได้ศึกษาให้ลึกลงไปในสัจจะของชีวิตทั้งที่ตนเอง ผู้อื่น สิ่งอื่น รอบ ๆ ตัวอีกด้วยแล้ว ก็จะยังเพิ่มคุณประโยชน์ให้อีกมากมาย จนถึงขั้นเข้าใจสัจธรรม ทั้งที่ตนเองผู้อื่น และสิ่งอื่น ก็ถือว่า ถึงขั้นสุดยอด ของการพัฒนาชีวิตแล้ว

ที่มาคอลัมน์ บทความจากเพื่อน 
เรื่อง การศึกษา คือ การพัฒนาชีวิต : กรณีการออม เศรษฐกิจพอเพียงและการทำบัญชีครัวเรือน
โดย : สุภาคย์ อินทองคง
เมื่อ : 19/04/2007

**********************
กลับไปหน้าหลัก " ออมก่อน รวยก่อน "

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น